สิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม สาเหตุที่เป็นไปได้ และแนวทางแก้ไข

มาทำความรู้จักสิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม ว่ามันคืออะไรและมีวิธีการรักษาอย่างไร

ถึงแม้ว่าสิวอุดตัน มักจะไม่ค่อยก่อปัญหารุนแรงเหมือนกับสิวอักเสบ แต่แน่ล่ะถ้าเป็นสิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม ย่อมเกิดปัญหาอย่างแน่นอน เพราะตรงแก้มนั้น อาจถือได้ว่าเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดบนใบหน้าเลยก็ว่าได้

สิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม

สิวอุดตัน (Comedones) เป็นสิวประเภทหนึ่ง จัดเป็นสิวที่ไม่อักเสบ (non-inflammatory acne) เกิดจากการอุดตันของน้ำมันส่วนเกิน รวมถึงสิ่งสกปรกอื่น ๆ ในรูขุมขน สิวอุดตันแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ สิวอุดตันหัวปิดหรือสิวหัวขาว กับสิวอุดตันหัวเปิดหรือสิวหัวดำ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน ได้แก่ ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น การทำความสะอาดผิวหน้าไม่ดีพอ ช่วงมีประจำเดือน ยาบางชนิด รวมถึงความเครียดทางจิตใจ

 

ทำความรู้จักสิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม ตรง T-zone และ U-zone

พื้นที่ผิวหน้าบริเวณแก้มนั้น เราจะเรียกว่า U-zones ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่รอบ ๆ ใบหน้า ตั้งแต่ขมับ แก้ม ลงไปถึงบริเวณคาง ส่วน T-zones นั่น เรามักจะรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งก็ได้แก่พื้นที่บริเวณหน้าผากและจมูกนั่นเอง

ความแตกต่างระหว่าง T-zone กับ U-zone ที่เห็นได้ชัด คือ ผิวหน้าบริเวณ T-zone นั้น มักจะมีจำนวนของต่อมไขมัน (sebaceous glands) หนาแน่นกว่า ก็จะทำให้การผลิตน้ำมันออกมามาก ส่วนผิวหนังบริเวณ U-zone นั้น จำนวนต่อมไขมันจะน้อยกว่า ซึ่งเหตุผลนี้เอง จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักเกิดสิวบริเวณ T-zone มากกว่า

สิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม

อย่างไรก็ตาม การเกิดสิวอุดตันไม่มีหัวหรือ U-zone ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ก็เพราะว่าการผลิตน้ำมันออกมาน้อย อาจทำให้ผิวแห้ง ระคายเคือง เกิดการอักเสบ และกระตุ้นการเกิดสิวในที่สุด คล้ายกับการที่เราล้างหน้าบ่อย ๆ แล้วผิวแห้ง จึงเกิดสิวนั่นเอง

นอกจากนี้สาเหตุสำคัญของสิวที่แก้ม มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกเต็มไปด้วยเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาสัมผัสบริเวณแก้ม การหนุนหมอนสกปรก หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ ก็อาจทำให้เศษฝุ่นละออง มลภาวะ และเชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาสะสมในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตัน และเกิดสิวในที่สุด

 

แนวทางการรักษาสิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม

การรักษาสิวอุดตัน เริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดผิวหน้าอย่างเหมาะสม วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ควรเลือกเจลล้างหน้าที่เหมาะกับผิวหน้า ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวแห้งเกินไป เพราะจะทำให้ระคายเคือง ถ้าเป็นสิวมาก ก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (non-comedogenic)

สิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม

ส่วนการใช้ยารักษาสิวอุดตันหัวปิดที่แก้ม ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาหลาย ๆ ตัวมีผลข้างเคียงสูงถ้าใช้ไม่ถูกวิธี โดยยากลุ่มหลัก ๆ สำหรับสิวอุดตัน มักจะเป็นยาครีมหรือเซรั่มที่ผสมกรดวิตามินเอ หรือยา benzoyl peroxide

นอกจากนี้การรักษาสิวอุดตันไม่มีหัวอาจต้องปรับเปลี่ยนสุขอนามัยบางอย่าง เช่น การซักปลอกหมอนเป็นประจำ ใช้สมอลทอล์กแทนการเอามือถือแนบหู และการทำความสะอาดผิวหน้าในทันทีที่รู้สึกว่าผิวสกปรกมาก โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย เพียงแค่นี้ปัญหาสิวก็จะไม่มากวนใจอีกต่อไป